การฉายแสง

การฉายแสง เป็นการนำเอารังสีมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ สามารถใช้ได้ในหลายระยะของโรคมะเร็งและใช้ได้เพื่อการรักษาแบบหวังให้หายขาด หรือรักษาเพื่อประคับประคอง ใช้รักษาเพียงลำพังหรือใช้ร่วมกับการรักษาอื่นๆ ได้ เช่น ผ่าตัด ยาเคมีบำบัด การใช้ยามุ่งเป้า ในบทความนี้จะมาพูดถึงความหมายของการฉายแสง ประเภท ขั้นตอนการรักษา รวมถึงการเตรียมตัวก่อนและหลังการฉายแสง

การฉายแสง

การฉายแสงหรือการฉายรังสีคืออะไร

การฉายแสง (radiotherapy) หรือการฉายรังสี คือ การใช้รังสีพลังงานสูงฉายตรงไปที่ตำแหน่งของเซลล์มะเร็ง เพื่อทำลายกลุ่มก้อนเซลล์มะเร็งนั้นๆ โดยการฉายแสงจะส่งผลให้เซลล์มะเร็งที่ได้รับรังสีมีการเปลี่ยนแปลงในระดับยีน ซึ่งในแต่ละครั้งที่ฉายแสงนั้น เซลล์มะเร็งจะสะสมความผิดปกติของยีนมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้ไม่สามารถซ่อมแซมส่วนที่เสียหายจากรังสีได้และเซลล์นั้นก็จะตายลง

ปัจจุบันเทคโนโลยีของรังสีรักษาพัฒนาก้าวหน้าไปมาก ทำให้แพทย์สามารถกำหนดตำแหน่งของการรักษาได้แม่นยำ โดยรักษาเนื้อเยื่อปกติโดยรอบให้ปลอดภัยจากรังสี ลดผลข้างเคียงลงและควบคุมโรคได้มากขึ้น การรักษามะเร็งด้วยวิธีนี้ จะขึ้นอยู่กับระยะของโรคมะเร็ง และชนิดของมะเร็งด้วย และสุขภาพของผู้ป่วย

ประเภทของการรักษาด้วยการฉายแสง

การรักษาด้วยการฉายแสงแบ่งออกเป็น 2 แบบ ได้แก่

  1. การฉายแสงรักษาระยะไกลจากภายนอก (External beam radiotherapy) เป็นการฉายแสงพลังงานสูงจากเครื่องฉายรังสี ซึ่งสามารถปรับความเข้มข้นของรังสีตามความหนาและขนาดของก้อนมะเร็ง เรียกว่า Intensity Modulated Radiation Therapy (IMRT) ซึ่งจะช่วยลดผลข้างเคียงต่ออวัยวะปกติรอบๆ ผ่านชั้นผิวหนังมาสู่ก้อนมะเร็งที่อยู่ภายในตัวผู้ป่วย โดยมุ่งเน้นปริมาณรังสีที่ก้อนมะเร็ง และหลบเลี่ยงอวัยวะปกติให้ได้รับรังสีน้อยที่สุด
  2. การฉายแสงรักษาระยะใกล้ (Brachytherapy) เป็นการฝังแร่กัมมันตรังสีเข้าไปในก้อนมะเร็งโดยตรงหรือใกล้ๆ กับก้อนมะเร็ง โดยสามารถแบ่งออกเป็น 2 แบบ ได้แก่
    • การฝังแร่แบบถาวร เป็นการฝังแร่ต้นกำเนิดของรังสีซึ่งมีขนาดเล็กและให้ปริมาณรังสีต่ำไว้ภายในก้อนมะเร็งแบบถาวร ส่วนใหญ่จะใช้วิธีนี้รักษามะเร็งต่อมลูกหมาก
    • การฝังแร่แบบชั่วคราว เป็นการฝังแร่ต้นกำเนิดของรังสีภายในหรือใกล้ๆ กับก้อนมะเร็งแบบชั่วคราว โดยแร่กัมมันตรังสีจะให้อัตราปริมาณรังสีขนาดสูง มักใช้รักษามะเร็งปากมดลูก มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม และมะเร็งต่อมลูกหมาก

การฉายแสงสามารถรักษามะเร็งบริเวณใดได้บ้าง

การฉายแสงสามารถรักษามะเร็งตามบริเวณต่างๆ ของร่างกายดังนี้

  • การฉายแสงบริเวณศีรษะและลำคอ ได้แก่ มะเร็งสมอง มะเร็งในโพรงจมูกและไซนัส มะเร็งหลังโพรงจมูก มะเร็งในช่องปาก มะเร็งในลำคอ มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งต่อมน้ำลายและไทรอยด์
  • การฉายแสงบริเวณทรวงอก ได้แก่ มะเร็งปอด มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งระบบน้ำเหลือง มะเร็งเต้านม
  • การฉายแสงบริเวณช่องท้อง ได้แก่ มะเร็งที่กระเพาะอาหาร มะเร็งตับ มะเร็งตับอ่อน มะเร็งไต และมะเร็งระบบน้ำเหลืองในช่องท้อง
  • การฉายแสงบริเวณท้องน้อย ได้แก่ มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งมดลูก มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งต่อมลูกหมาก

ขั้นตอนการรักษาด้วยการฉายแสง

การรักษาด้วยการฉายแสง ผู้ป่วยจะได้รับการดูแลโดยแพทย์เฉพาะทาง โดยแพทย์จะอธิบายถึงบทบาทของรังสีรักษา ข้อดี ข้อเสีย และผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการรักษา และภายหลังจากเสร็จสิ้นการรักษา โดยก่อนเริ่มการฉายแสงผู้ป่วยจะได้รับการทบทวนประวัติการรักษา ตรวจร่างกายทั่วไป ผลการตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการ เช่น ผลเลือด ผลการส่องกล้อง ผลเอกซเรย์ต่างๆ เป็นต้น เพื่อเป็นข้อบ่งชี้ในการฉายแสง ตลอดจนตรวจยืนยันผลชิ้นเนื้อและระยะของโรคอีกครั้ง โดยมีขั้นตอนดังนี้

  1. การฉายแสงรักษาระยะไกล โดยขณะการฉายแสงผู้ป่วยจะนอนอยู่นิ่งๆ นักรังสีการแพทย์จะจัดท่าและตำแหน่งของการฉายแสงให้ตรงกับที่วางแผนไว้ จากนั้นจะทำการฉายแสง รังสีที่ให้แต่ละครั้งใช้เวลาเพียง 2-10 นาที ขึ้นอยู่กับเทคนิคที่ใช้ แต่ใช้เวลาทั้งสิ้นตั้งแต่การจัดท่าและตำแหน่งจนเสร็จวันละประมาณ 20- 25 นาที ทำการฉายสัปดาห์ละ 5 วัน โดยใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ 4-8 สัปดาห์ตามแต่ชนิดของมะเร็งและแผนการรักษาของแพทย์ ในขณะการฉายแสงจะไม่ไม่ความรู้สึกเจ็บปวด ไม่มีแสง ไม่มีเสียง และไม่มีความร้อนบริเวณที่ฉายรังสี หลังจากการฉายแสงผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ เนื่องจากไม่มีรังสีตกค้างอยู่ในตัวผู้ป่วย
  2. การฉายแสงรักษาระยะใกล้ แพทย์จะพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เช่น ตำแหน่ง ขนาด และการแพร่กระจายของมะเร็ง เพื่อให้ได้วิธีการรักษาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย และการฝังแร่กัมมันตรังสีอาจใช้เป็นการรักษาเพียงอย่างเดียวหรือร่วมกับการรักษาอื่นๆ เช่น การฉายรังสีภายนอก หรือการผ่าตัด

ในระหว่างการฉายแสง ควรพบแพทย์รังสีรักษาประมาณสัปดาห์ละครั้ง โดยแพทย์จะประเมินการตอบสนองต่อการรักษา ผลข้างเคียง พร้อมแนะนำวิธีปฏิบัติตัว แต่หากมีอาการผิดปกติก็สามารถเข้าปรึกษาแพทย์ได้ทันที นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจต้องได้รับการตรวจความสมบูรณ์ของเลือด

การเตรียมตัวก่อนและระหว่างการฉายแสง

ก่อนผู้ป่วยจะเข้ารับการฉายแสงควรปฏิบัติตัว ดังนี้

  1. ดูแลรักษาสุขภาพร่างกายให้สมบูรณ์แข็งแรง
  2. พักผ่อนให้เพียงพอ
  3. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่  เช่น  โปรตีนจากสัตว์  ปลา  ไข่  นม  ผัก ผลไม้ ฯลฯ
  4. ดูแลรักษาความสะอาดทั่วไปของร่างกาย

วิธีปฏิบัติตัวระหว่างเข้ารับการรักษาด้วยการฉายแสง

  1. อาหาร ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ วิตามินสูง รสไม่จัด  โปรตีนสูงย่อยง่าย เช่น โปรตีนจากสัตว์  ปลา  นม ไข่ ตับสัตว์  ถั่วต่าง ๆ ผัก ผลไม้ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง  และควรงดอาหารประเภทหมักดอง
  2. ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 2,000  cc (2 ลิตร) น้ำช่วยให้ร่างกายชุ่มชื้น และระบายความร้อนออกจากร่างกาย  หรือ อาจเป็นเครื่องดื่มที่ผู้ป่วยชอบก็ได้ เช่น น้ำผลไม้  น้ำหวาน ฯลฯ
  3. ควรรักษาความสะอาดทั่วไปของร่างกาย ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า เพราะผู้ป่วยที่รักษาด้วยรังสี อาจมีอาการอ่อนเพลียและภูมิต้านทานของร่างกายต่ำ ถ้าร่างกายสกปรกจะเกิดโรคแทรกซ้อนได้ง่าย
  4. การขับถ่ายของเสียออกจากร่างกาย ถ้ามีอาการท้องผูกหรือท้องเสียให้แจ้งแพทย์ พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่ที่ให้การดูแลเพื่อให้คำแนะนำและรักษา
  5. ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 6 – 8 ชั่วโมง ถ้าผู้ป่วยเกิดภาวะเครียดนอนไม่หลับให้แจ้งแพทย์หรือพยาบาลทราบ เพื่อวางแผนการดูแลรักษา
  6. ออกกำลังกายตามสภาพของร่างกายและทำอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้ร่างกายแข็งแรงและการไหลเวียนของโลหิตดีขึ้น
  7. ผู้ป่วยที่มีอาการปวดศีรษะ ปวดตามร่างกาย หรือมีอาการผิดปกติต่าง ๆ เช่น อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร เจ็บปาก เจ็บคอ กลืนลำบาก ผิวหนังอักเสบ ให้แจ้งแพทย์หรือพยาบาลทราบเพื่อให้การดูแลรักษา
  8. ควรทำจิตใจให้สบาย หางานอดิเรกทำ เช่น อ่านหนังสือ ฟังวิทยุ ดูทีวี พูดคุยกับผู้อื่น ฯลฯ
  9. ผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ได้แก่ CBC สัปดาห์ละ 1 ครั้ง เพื่อประเมินภาวะสุขภาพขณะรับการฉายรังสี
  10. ควรหลีกเลี่ยงแหล่งที่มีผู้คนอยู่กันอย่างหนาแน่น  เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคต่าง ๆ ได้ง่าย  ทั้งจากการสัมผัส  อากาศ   อาหาร  และน้ำดื่ม

การฉายแสง

หลังการรักษาด้วยการฉายแสง

หลังครบแผนการรักษาการฉายแสงของแพทย์ ผู้ป่วยยังคงต้องปฏิบัติตัวเช่นเดียวกับช่วงการฉายแสงต่อประมาณ 2-3 สัปดาห์ โดยแพทย์จะนัดให้มาตรวจประเมินผลการรักษาประมาณ 2-4 สัปดาห์หลังการฉายแสงเสร็จ จากนั้นจะนัดตรวจทุก 1-3 เดือน แล้วแต่ชนิดของดรคมะเร็งและขั้นตอนการรักษา จากนั้นการติดตามผลการรักษาการฉายแสงจะห่างขึ้นเป็น 4-6 เดือนจนกระทั่ง 5 ปี ถ้าผู้ป่วยมีอาการปกติและไม่มีอาการของโรค แพทย์จะนัดติดตามห่างขึ้นเป็นปีละครั้งตลอดไป

การดูแลผิวหนังบริเวณที่ได้รับการฉายแสง

  1. ควรดูแลบริเวณที่ฉายรังสีให้สะอาดและแห้งอยู่เสมอ
  2. ผู้ป่วยสามารถอาบน้ำได้  แต่ควรใช้เป็นน้ำสะอาด หลีกเลี่ยงการใช้สบู่  แป้ง  เพราะแป้งฝุ่นอาจมีส่วนผสมของโลหะหนัก ทำให้ระคายเคือง ผิวดำคล้ำมากขึ้น ให้ใช้แป้งข้าวโพดบริสุทธิ์แทน และภายหลังการอาบน้ำควรใช้ผ้าเช็ดตัวที่อ่อนนุ่มซับเบา ๆ ให้แห้งแทนการเช็ดตัวปกติ
  3. ห้ามวางกระเป๋าน้ำร้อนหรือประคบน้ำแข็งบริเวณที่ฉายรังสี และควรหลีกเลี่ยงการถูกแสงแดดจัดเป็นเวลานาน ๆ หรือการสัมผัสบริเวณที่ฉายรังสีโดยตรงกับความร้อนหรือความเย็น เพราะจะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังได้
  4. ควรใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหรือยาทาผิวหนังบริเวณฉายรังสีให้อยู่ภายใต้การดูแลและคำแนะนำจากแพทย์เจ้าของไข้
  5. ควรสวมเสื้อผ้าหลวม ๆ เนื้อผ้านุ่ม  เบาสบาย  ระบายอากาศได้ดีที่ทำจากเส้นใยธรรมชาติ เพื่อลดการเสียดสีผิวหนัง
  6. ผู้ป่วยที่ได้รับการฉายรังสีบริเวณลำคอ ผิวหนังอาจมีสีแดง แห้งตึง เกิดอาการคัน ดำคล้ำ และตกสะเก็ด หรือแตกเป็นแผล ห้ามถู แกะ เกา
  7. ผู้ป่วยไม่ควรว่ายน้ำ  เนื่องจากในสระว่ายน้ำที่มีคลอรีน จะทำให้ผิวแห้งและเกิดการระคายเคืองได้ง่าย
  8. กรุณารักษาเส้น Skin Marker บริเวณที่ฉายรังสีที่แพทย์และเจ้าหน้าที่กำหนดไว้ เพราะถ้าเส้นลบต้องทำการตรวจสอบตำแหน่งและความถูกต้องใหม่ ทำให้เสียเวลาในการรักษา และกรุณาอย่าขีดเส้นที่ลบเลือนด้วยตนเอง

บทสรุป

อย่างไรก็ตามในช่วงของการรักษาด้วยการฉายแสง ผู้ป่วยจะรู้สึกอ่อนเพลียจึงควรพักผ่อนอย่างเต็มที่ แต่ยังสามารถออกกำลังกายหรือทำกิจวัตรประจำวันที่ไม่เหนื่อยเกินไปได้ตามปกติ พร้อมทั้งควรทานอาหารที่มีประโยชน์ และให้พลังงานสูง เช่น ไข่ขาว เนื้อสัตว์ ปลา และควรดื่มน้ำมากๆ รวมไปถึงการปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัว

 

เรื่องเกี่ยวกับสุขภาพอื่นๆ ที่น่าสนใจ

 

ที่มาของบทความ

 

ติดตามเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพได้ที่  webstergroveshomes.com

สนับสนุนโดย  ufabet369